วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและความร่วมมือในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ประเภทข้อมูลเอกสารโบราณ 27 กรกฎาคม 2555

ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ได้เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและความร่วมมือในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ประเภทข้อมูลเอกสารโบรา



 โดยมีหัวข้อในการบรรยายดังนี้
1.ฟังบรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์ และ ดร.สุพิน  ฤทธิ์เพ็ญ  หัวข้อการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมประเภทข้อมูลเอกสารโบราณและการใช้ประโยชน์ จากข้อมูลเอกสารโบราณ
2.ฟังบรรยายโดยอาจารย์ จิตรา สามสา หัวหน้าหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาภาพยัพ   หัวข้อคุณค่าของข้อมูลเอกสารโบราณและการจัดการข้อมูลเอกสารโบราณอย่าง ยั่งยืน
3.ฟังบรรยาย โดยคุณบรรเจิด ดีมงคล หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกเชียงใหม่  หัวข้อการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ
 
เอกสารโบราณคืออะไร

ที่มา: คู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ๒๕๔๘

เอกสารโบราณ หมายถึง หลักฐานที่เป็นภาษาและตัวหนังสือแต่เก่าก่อน ซึ่งสำเร็จด้วยหัตถกรรม เป็นเอกสารที่บันทึกสรรพวิชาการของบรรพชนไทยด้านประวัติศาสตร์ของชาติ อารยธรรมของสังคมกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงวรรณกรรม วัฒนธรรม จริยธรรม และคุณธรรม ซึ่งเป็นแบบอย่างของอดีตอันเป็นพื้นฐานของสังคมในปัจจุบัน เอกสารโบราณจึงเป็นคำรวมที่ใช้เรียกหนังสือต้นฉบับตัวเขียน ตัวชุบ ตัวจาร และตัวจารึก
เอกสารโบราณเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดมาถึงอนุชนในยุค ปัจจุบัน เป็นผลงานอันเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชน ที่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของหนังสือตัวเขียนและจารึก เอกสารโบราณเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้มากมาย เป็นเอกสารวิชาการอันสำคัญยิ่ง ใช้เป็นข้อมูลศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ เป็นต้นว่า รูปแบบอักษร ภาษา ที่ประจำอยู่ตามท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงใช้เป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา ศิลปะ และอักษรศาสตร์ ฯลฯ
โครงสร้าง หรือ รูปแบบทางกายภาพของเอกสารโบราณ ประกอบด้วยวัตถุรองรับตัวหนังสือและเส้นอักษร ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษร และภาษาแต่เก่าก่อน อันสำเร็จด้วยหัตถกรรม จำแนกออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ๓ ประเภท คือ จารึก ใบลานซึ่งสำเร็จรูปเป็นคัมภีร์ใบลาน และกระดาษในรูปลักษณ์หนังสือสมุดไทย
จารึก เป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งที่บันทึกลายลักษณ์อักษรลงบนวัตถุชนิดต่างๆ ที่มีความแข็งแรง คงทนถาวร เก็บรักษาไว้ได้นาน มีรูปทรงต่างๆ เป็นแท่ง เป็นแผ่นบางๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เช่น ฐานพระพุทธรูป และเสาขอบประตูปราสาท เป็นต้น จารึกเหล่านี้จำกัดให้เรียกชื่อตามชนิดของวัตถุ เช่น แผ่นศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก แผ่นทอง เรียกว่า จารึกแผ่นทอง และบางทีก็เรียกชื่อตามรูปสัณฐานของจารึก เช่น จารึกฐานพระพุทธรูปนาคปรก เป็นต้น
ใบลาน เป็นเอกสารโบราณที่จดจารลายลักษณ์อักษรไว้บนใบลานซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติได้มาจาก ใบของต้นลาน จึงเรียกโดยทั่วไปว่า หนังสือใบลาน แต่เนื่องจากคนไทยโบราณนิยมจารเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลงในใบลาน จึงนิยมเรียกหนังสือใบลานว่า คัมภีร์ใบลาน
ใบลานใช้จารตัวอักษรได้ ๒ ด้าน ด้วยเหล็กแหลม เรียกว่า เหล็กจาร ขีดลงไปให้เป็นร่องรูปอักษรบนใบลาน แล้วใช้เขม่าไฟผสมน้ำมันยางลบให้เห็นตัวอักษรเด่นชัด เมื่อจะทำใบลานให้เป็นเล่มหนังสือ ต้องร้อยเชือกเรียกว่า สายสนอง เข้าไปในรูที่เจาะไว้ทางด้านซ้าย เรียกว่าร้อยหู เพื่อรวมเป็นผูก หลายๆ ผูกรวมเป็นคัมภีร์หนึ่ง แต่ละคัมภีร์ จะมีไม้ประกับหัวท้ายกำกับไว้ แล้วมัดรวมกันโดยมีผ้าห่อรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง นอกผ้าห่อคัมภีร์จะเสียบฉลาก หรือป้ายบอกชื่อคัมภีร์ไว้ด้วยกับยังนิยมตกแต่งขอบคัมภีร์ ใบปกหน้า ใบปกหลัง และไม้ประกับด้วยสีและลวดลายต่างๆ เช่น ปิดทองทึบ ปิดทองล่องชาด และลายรดน้ำ โดยเฉพาะไม้ประกับบางครั้งมีการตกแต่งเป็นพิเศษ เช่น ประดับมุก คร่ำเงิน คร่ำทอง เป็นต้น ผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ก็นิยมใช้ผ้าชั้นดี เช่น ผ้าไหม และแม้ฉลากคัมภีร์ก็นิยมประดิษฐ์ให้งดงาม ด้วยวัตถุชนิดต่างๆ เช่น ไม้ หรือ งา จำหลักนูนต่ำเป็นลายดอกไม้และลายอื่นๆ ก็มี
กระดาษ เอกสารโบราณประเภทกระดาษ ซึ่งเขียนหรือชุบลายลักษณ์อักษรไว้บนกระดาษที่เป็นแผ่นหรือเป็นเล่ม และหรือบนวัตถุอื่น ซึ่งสำเร็จด้วยวิธีเขียน หรือชุบนั้น ถ้าเป็นกระดาษแผ่นบาง ยาวๆ พับกลับไปกลับมา เป็นเล่มสมุด เรียกว่า หนังสือสมุดไทย
หนังสือสมุดไทยมี ๒ สี คือ สีดำ และสีขาว เรียกว่า สมุดไทยดำ และสมุดไทยขาว ในเขตจังหวัดภาคใต้ นิยมเรียกว่า บุดดำ บุดขาว สำหรับภาคกลางนิยมทำจากเปลือกต้นข่อย ทำให้มีชื่อเรียกตามวัสดุที่ใช้ว่า สมุดข่อย ส่วนในจังหวัดภาคเหนือนิยมใช้เปลือกต้นสาทำกระดาษ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมุดกระดาษสา และเรียกกระดาษ เพลา ซึ่งเป็นกระดาษแผ่นบางๆ ว่า กระดาษน้ำโท้ง ถ้าซ้อนกระดาษเป็นปึกแล้วเย็บรวมกันด้านเดียว เรียกว่า ปั๊บสา วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาว น้ำหมึกสีดำ และน้ำหมึกสีเหลืองที่ได้จากส่วนผสมของรงกับหรดาล เป็นต้น
การเขียนหนังสือลงบนสมุดไทยเขียนได้ ๒ หน้าๆ ละประมาณ ๓-๕ บรรทัด คนไทยโบราณนิยมเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัดเพิ่งจะมานิยมเขียนกันในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นี้เอง
เอกสารโบราณทั้ง ๓ ประเภทไม่เพียงแต่จะมีรูปลักษณะที่แปลก และแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ รูปอักษร ภาษา และเรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารโบราณเหล่านั้น จะเห็นได้ว่าเอกสารโบราณแต่ละชิ้นซึ่งพบในภูมิภาคต่างๆ สร้างขึ้นในยุคสมัยต่างกัน รูปอักษร และภาษาที่ใช้ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย คุณค่าของเอกสารโบราณจึงมีอยู่มากมายหลายสาขาวิชา มีทั้งประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา ศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย เวชศาสตร์ โหราศาสตร์ เป็นต้น
เกษียร มะปะโม นักอักษรศาสตร์ ๙ ชช. (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ) สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร


แหล่งอ้างอิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น